คลองนครเนื่องเขต อดีตได้ถูกขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 ตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริกว้างไกลว่า การขุดคลองครั้งนี้ จะช่วยอำนวยประโยชน์แก่ชาวบ้านในด้านการเกษตรกรรม และทางการคมนาคมซึ่งช่วยย่นเวลาการเดินทางระหว่างเมืองบางกอกและฉะเชิงเทราได้ เมื่อขุดเสร็จแล้วในปีถัดมาจึงพระราชทานนามว่า “คลองนครเนื่องเขตร์”(ตัวสะกดในยุคนั้น) ซึ่งมีความหมายว่าสุดเขตพระนคร หลังการขุดคลองราวปี พ.ศ. 2421 พื้นที่แห่งนี้มีการตั้งรกราวโดยชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการประกอบอาชีพค้าขาย และเป็นจุดศูนย์กลางการค้าขายทางเรือ โดยเฉพาะสินค้าข้าวเปลือก ชา น้ำมัน และของสดต่างๆ จึงกลายเป็นตลาดที่มีความรุ่งเรืองมาก แต่ด้วยต่อมาการคมนาคมที่แปรเปลี่ยนไป มีการตัดถนน มีความเจริญขึ้น ทำให้การค้าซบเซาลงอย่างมาก ผู้ค้าในตลาดจึงได้เริ่มย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ในตลาดเงียบจนเหลือร้านค้า แค่ 2-3 ร้าน จึงทำให้ตลาดต้องปิดตัวลงโดยปริยาย เช่นเดียวกับตลาดริมน้ำอื่นๆ ในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2552 คุณเลอสรร สายวาณิชย์ ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลนครเนื่องเขตได้พลิกฟื้นวิถีชีวิตการค้าขายแบบโบราณของตลาดแห่งนี้โดยให้ชาวบ้านกลับมาเริ่มประกอบอาชีพค้าขายตามริมฝั่งคลองกันอีกครั้งเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และให้ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณแบบอดีตไว้พร้อมทั้งจัดเปิดตลาดโบราณนครเนื่องเขตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทราอีกแห่งหนึ่งด้วย
จุดเด่นของตลาดแห่งนี้ ที่เป็นเสน่ห์สามรถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ก็คือ เป็นตลาดที่มีลำคลองพาดผ่านกลาง ทำให้มีตลาดอยู่ 2 ฟากฝั่ง รวมทั้งมีสี่แยกทางน้ำหาดูได้ยาก ส่วนอาหารที่นี่ก็มีคุณภาพ ราคาถูก เช่น ก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท เท่านั้น และจุดเด่นของตลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ บ้านไม้เรือนแถวของตลาดยังคงสภาพเดิมน่าเดินชม นอกจากนี้ยังมี พิพิธภัณฑ์ คลองนครเนื่องเขต ซึ่งภายในเป็นห้องแถวไม้ที่จัดแสดงเรื่องราวและประวัติของชุมชนชาวนครเนื่องเขตแห่งนี้ไว้ให้รู้กันพอสังเขป และในบริเวณตลาดยังมี ศาลเจ้าไท่จือเอี๊ยะ กับ ศาลเจ้าปุนเถ้ากง อันเป็นสิ่งศักสิทธิ์ที่สร้างขึ้นมาคู่กับตลาดโดยบรรพบุรุษของคน ในระแวกนี้ให้แวะกราบไหว้ดันอีกด้วย
ตำบล: คลองนครเนื่องเขต อำเภอ: เมืองฉะเชิงเทรา จังหวัด: ฉะเชิงเทรา 24000
Cr: Thailand Tourism Directory